ปีแยร์ กูว์รี (ฝรั่งเศส: Pierre Curie; 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1859 – 19 เมษายน ค.ศ. 1906) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส สามีของมารี กูว์รี นักเคมีชาวโปแลนด์ ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อ ค.ศ. 1903
ปีแยร์ กูว์รี เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1859 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยบิดาของเขาเป็นนายแพทย์ หลังจากจบการศึกษาขั้นต้นแล้ว ปีแยร์ได้เข้าศึกษาต่อวิชาเคมี ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนหลังจากที่เขาจบการศึกษาแล้วได้เข้าฝึกงานกับคณะผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาก็สามารถสร้างผลงานเป็นที่น่าพอใจ และในปี ค.ศ. 1878 ปีแยร์ก็ได้รับรางวัลไซเอนซิเอต (Scienciate Award) ทางฟิสิกส์ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการห้องทดลองประจำมหาวิทยาลัยซอร์บอน และในระหว่างนี้เขาได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาในโรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม และงานทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ
ต่อมาในปี ค.ศ. 1880 ปีแยร์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความต่างศักย์ของไฟฟ้าระหว่างผลึกหินควอทซ์กับเกลือโรเชลลีภายใต้ความกดดันสูง จากผลการทดลองเขาพบว่า ความกดดันมีผลกระทบต่อความต่างศักย์ ซึ่งปีแยร์เรียกสั้น ๆ ว่า "ปีแยร์โซอิเล็กทริซิตี" (Pierre so Electricity) และเขาได้พบเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าเพิ่มค่าความต่างศักย์ของไฟฟ้าให้มากขึ้น จะทำให้พื้นผิวของผลึกเกิดการสั่นสะเทือน ทำให้เกิดคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงเกินกว่าที่คนปกติจะได้ยิน แต่ก็มีประโยชน์ เพราะต่อมานักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังได้นำหลักการเดียวกันนี้มาประดิษฐ์อุปกรณ์เกี่ยวกับเสียงหลายชนิด เช่น ไมโครโฟน เครื่องบันทึกเสียง เป็นต้น
ในปี ค.ศ. 1895 ปีแยร์ได้ทดลองเกี่ยวกับความร้อนที่เกิดขึ้นกับแม่เหล็ก จากผลการทดลองปีแยร์พบว่าที่อุณหภูมิระดับหนึ่ง แม่เหล็กไม่สามารถแสดงสมบัติออกมาได้ โดยปีแยร์เรียกอุณหภูมิระดับนี้ว่า "เคียวรีพอยต์" (Cury Point) และจากการทดลองครั้งนี้ เขาได้สร้างเครื่องมือขึ้นมาชิ้นหนึ่งชื่อว่า อิเล็กทรอมิเตอร์ (Electrometer หรือ ThermoMeter) สำหรับใช้ในการทดลองครั้งนี้ด้วย จากผลงานชิ้นนี้เขาได้รับมอบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยซอร์บอน และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการประจำห้องทดลองเคมีและฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยซอร์บอน ซึ่งทำให้เขามีโอกาสได้พบกับมาเรีย สกวอดอฟสกา (Maria Sklodowska) และแต่งงานกันในปี ค.ศ. 1895
หลังจากที่ปีแยร์ได้มีโอกาสพบกับมาเรีย สกวอดอฟสกา ภายหลังทั้งคู้จึงได้แต่งงานกันในปี ค.ศ. 1895 โดยมีบุตรสาวสองคน ได้แก่
ในขณะที่ปีแยร์มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จทั้งด้านการงานและครอบครัว เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ในขณะที่เขากำลังเดินไปยังสำนักพิมพ์ เพื่อตรวจต้นฉบับ ได้มีรถบรรทุกคันหนึ่งวิ่งเข้ามาชนเขาล้มลง และทับศีรษะ ทำให้ปีแยร์เสียชีวิตทันทีในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1906 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส